โคเออร์แม่สอดและโรงเรียนในพื้นที่พักพิง ฯ บ้านแม่หละเห็นความสำคัญในการจัดการขยะ ทางโรงเรียนจึงได้เชิญวิทยากรโคเออร์มาให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะที่ถูกวิธีให้กับเด็กนักเรียน ซึ่งเป็นโอกาสที่เหมาะสมในการส่งเสริมให้เด็กนักเรียนรับรู้ถึงปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม ที่เป็นปัญหาร่วมกันของทุกชุมชน ปัญหาต่างๆ ด้านสิ่งแวดล้อมมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของคนในชุมชน และระบบนิเวศน์อย่างมากมาย สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากน้ำมือมนุษย์ที่ขาดจิตสำนึก และมีความต้องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่จำกัด และไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม
โคเออร์จึงได้จัดทำโครงการ “เยาวชนรักความสะอาด รักษาสิ่งแวดล้อม ต้องแยกขยะและทิ้งขยะลงถัง” ขึ้นเพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจ รณรงค์ให้เด็กนักเรียน และเยาวชน รู้จักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้เห็นถึงความสำคัญของการจัดการคัดแยกขยะด้วยหลัก 3R คือ ใช้เท่าที่จำเป็น นำส่วนที่ยังใช้ได้กลับมาใช้อีก และแปรรูปขยะ หรือขายทิ้งเพื่อให้นำไปแปรรูป ซึ่งทำให้ลดจำนวนขยะลงได้มาก หลักการ 3R จึงเป็นพื้นฐานการรักษาทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาพื้นที่พักพิง ฯ บ้านแม่หละ โดยใช้สถานที่ของโรงเรียนเป็นพื้นที่จัดทำโครงการ เพื่อให้โรงเรียนและเด็กนักเรียนมีส่วนร่วมในการรณรงค์ให้เกิดการจัดการขยะอย่างเหมาะสม ด้วยการเรียนรู้การคัดแยกขยะ ทิ้งขยะให้ถูกที่คือทิ้งลงถังขยะ ตลอดจนเห็นโทษของการที่มีขยะมากเกินไป โดยจัดการอบรมขึ้นในวันที่ 8 และ 15 กันยายน 2560 มีเด็กนักเรียนเข้าร่วมการอบรมจำนวน 400 คน เป็นหญิง 225 ชาย 175 คน
ต่อมาในวันที่ 22 กันยายน 2560 โคเออร์ได้ให้การอบรมเรื่องประโยชน์ของการคัดแยกขยะให้กับผู้ลี้ภัยจำนวน 250 คน ซึ่งเป็นหญิง 170 คน และ ชาย 80 คน ที่สำนักงานของกรรมการสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการอบรมที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 ของปี ครั้งละ 250 คน เพื่อสร้างจิตสำนึกให้กับผู้ลี้ภัยโดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนตลอดจนอาสาสมัครเพื่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ผู้ลี้ภัยเข้าใจประโยชน์จากการคัดแยกขยะ พร้อมทั้งเห็นคุณค่าและราคาของขยะ อีกทั้งเพื่อให้ผู้ลี้ภัยได้มีความตระหนักในการรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยมือของเขาเอง มีความเข้าใจและรู้รักความสะอาดของสถานที่ด้วยการทิ้งขยะลงถังขยะ การคัดแยกขยะเพื่อนำสิ่งของที่ยังใช้ได้ไปจำหน่ายสร้างรายได้หรือบริจาคที่ธนาคารขยะ หรือนำไปแลกไข่มาประกอบอาหาร นอกจากนี้ ยังจัดกิจกรรมกลุ่มผึกการประดิษฐ์สิ่งของจากเศษวัสดุที่ยังใช้ได้ เช่น กระดาษ ขวดแก้ว เป็นต้น
ช่วงท้ายเป็นการระดมความคิดประเมินผลการอบรมว่า ผู้เข้าอบรมเข้าใจ และสามารถนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ และนำไปถ่ายทอดให้เพื่อนบ้านและชุมชนได้ในโอกาสต่อไป
|